ระบบท่อน้ำระบายความร้อน

Go to content

ระบบท่อน้ำระบายความร้อน

ทดสอบสมรรถนะไฟร์ปั๊ม
Published by Weerawut in Knowledge · 13 January 2024
เครื่องสูบน้้ำดับเพลิงดีเซล จะต้องการระบบระบายความร้อนที่นำความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ออกไปจากเครื่องยนต์ โดยใช้น้ำหล่อเย็นระบายความร้อน (Coolant)  และไประบายความร้อนทิ้งที่หม้อน้ำรังผึ้งเหมือนกับรถยนต์ทั่วไป เมื่อน้ำคูลแลนท์เย็นลงแล้วจะไหลผ่านปั๊มน้ำ (Water pump) เพื่อส่งให้ไหลเวียนไปทั่วเครื่องยนต์ ซึ่งจะหมุนวนเป็นระบบปิดตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน (อาจยังไม่หมุนวนขณะที่เครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ เพราะเทอร์โมสตัทวาล์วไม่เปิด)



แต่ในระบบเครื่องยนต์สูบน้ำดับเพลิงที่อยู่กับที่ส่วนใหญ่ คูลแลนท์จะไประบายความร้อนผ่านเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบท่อ (Heat exchanger) หรือที่ช่างมักเรียกว่าหม้อน้ำเรือ เพราะเรือจะดูดน้ำจากแม่น้ำหรือทะเลมาระบายความร้อนให้กับเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแล้วปล่อยทิ้งไปเฉพาะน้ำที่ร้อนขึ้น แต่เครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะใช้น้ำที่ต่อออกจากท่อที่อยู่ระหว่างหน้าแปลนด้านจ่ายของเครื่องสูบน้ำกับวาล์วกันกลับไประบายความร้อนให้กับเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแทนแล้วปล่อยทิ้งไป เราเรียกน้ำที่มาระบายความร้อนเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนนี้ว่า น้ำระบายความร้อน (Raw cooling water) ซึ่งในเครื่องยนต์ที่มีเทอร์โบติดตั้งอยู่ จะนำวงจรน้ำระบายความร้อนนี้ไปลดอุณหภูมิของอากาศสำหรับเผาไหม้ที่ผ่านเทอร์โบมาที่ (Charge air cooler) หรือที่ (After cooler) ก่อนเข้าไปเผาไหม้ด้วย

ระบบท่อน้ำระบายความร้อนนี้มีความสำคัญมาก เพราะทำหน้าที่ในการส่งน้ำระบายความร้อนในปริมาณที่เพียงพอ และความดันไม่สูงเกินกว่าที่เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนจะเสียหาย  ดังนั้นในระบบท่อน้ำระบายความร้อน (Raw cooling water) จึงต้องมี วาล์วควบคุม, กรอง (Strainer), วาล์วควบคุมการจ่ายน้ำอัตโนมัติเมื่อเครื่องยนต์ทำงาน, วาล์วควบคุมความดัน, เกจวัดความดัน และระบบท่อน้ำระบายความร้อนที่เหมาะสมตามมาตรฐาน จะต้องมี 2 วงจรขนานกัน วงจรหลัก (Main) จะใช้งานตลอด วงจรสำรอง (By-pass) จะปิดวาล์วไว้ และเปิดวาล์วใช้งานโดยผู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำดับเพลิง เมื่อน้ำระบายความร้อนจากวงจรหลักไม่เพียงพอ)

อุปกรณ์แต่ละตัวมีความจำเป็น เพราะมีหน้าที่ดังนี้
วาล์วควบคุม มีหน้าที่เพื่อควบคุมการไหลของน้ำ, ปิดระบบสำหรับบำรุงรักษาระบบท่อ ไม่ควรใช้ Globe valve เพราะไม่สามารถบอกตำแหน่งด้วยการดูได้ และเมื่อใช้งานไปนานๆ โดยที่ไม่ได้มีการเปิดปิดเป็นประจำ แกนอาจขาด เมื่อเราหมุนวาล์วเปิด แต่ลิ้นไม่เปิด ทำให้น้้ำไม่ไหล
กรอง มีหน้าที่เพื่อดักสิ่งสกปรกไม่ให้เข้าไปอุดตันในท่อของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน
วาล์วควบคุมการจ่ายน้ำอัตโนมัติ มีหน้าที่เพื่อเปิดให้น้ำไหลไปที่เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนได้ เมื่อเครื่องสูบน้ำดับเพลิงทำงานโดยอัตโนมัติ (กรณีเป็นเครื่องสูบน้ำชนิดเทอร์ไบน์แนวดิ่ง (Vertical turbine)ไม่จำเป็นต้องมี)
วาล์วควบคุมความดัน มีหน้าที่ปรับปริมาณน้ำระบายความร้อนให้เพียงพอ และควบคุมความดันไม่ให้สูงเกินพิกัด
เกจวัดความดัน มีหน้าที่ใช้ตรวจวัดความดันว่าปกติหรือไม่

ในระบบท่อน้ำระบายความร้อนตาม FM1333 จะมีเซ็นเซอร์ติดตั้งกับระบบท่อน้ำระบายความร้อนเพิ่มเติมขึ้้นมา เพื่อตรวจจับการไหล และอุณหภูมิของน้ำระบายความร้อน และส่งสัญญาณเตือนเมื่อตรวจพบความผิดปกติ



การทดสอบเพื่อส่งมอบงาน ต้องมีการปรับอัตราการไหลของน้ำระบายความร้อนให้เพียงพอตามที่ผู้ผลิตเครื่องยนต์กำหนด โดยควรจะคำนึงถึงอุณหภูมิน้ำสูงสุดที่มาใช้ระบายความร้อนด้วย เพราะน้ำยิ่งร้อนจะต้องใช้ปริมาณน้ำมากกว่าน้ำที่เย็นในการระบายความร้อนจากเครื่องยนต์เท่าๆกัน และวาล์วที่ใช้ต้องเป็นแบบระบุตำแหน่งเปิดหรือปิดได้ชัดเจน (indicating manual shut off valve) เช่น Ball valve แบบก้านหมุน 1/4 รอบ และต้องมีป้ายบอกสถานะของวาล์วให้ปกติเปิด หรือปกติปิดให้ชัดเจน

การตรวจสอบประจำสัปดาห์ ควรตรวจสอบตำแหน่งเปิด-ปิดของวาล์วให้ถูกต้อง, ตรวจสอบความดันของน้ำระบายความร้อนตอนเครื่องยนต์ทำงานว่าลดลงหรือเปลี่ยนแปลงผิดปกติหรือไม่ และสังเกตุการไหลของน้ำที่ปลายท่อน้ำทิ้ง

การบำรุงรักษา ควรมีการล้างทำความสะอาดไส้กรองน้ำเป็นประจำทั้งวงจรหลัก และวงจรบายพาส และปรับตั้งค่าความดัน ซึ่งไปควบคุมอัตราไหลให้เพียงพอ, ถ้าจำเป็น

ปัญหาเครื่องยนต์ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเริ่มต้นจากปัญหาน้ำระบายความร้อนไม่พอ อาจทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด (Overheat) จนใช้งานไม่ได้ เสียค่าใช้จ่ายสูง และพอหลังจากยกเครื่อง (Overhaul) ทุกอย่างก็ดูไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


There are no reviews yet.
0
0
0
0
0
บริษัท ดับบลิวแอล วิศวกรรมและพลังงาน จำกัด

weerawut0312@gmail.com
081-577-8879
Line ID: 0815778879
สงวนลิขสิทธิ์ - Createx with WebSite X5 Pro
Back to content